บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

นิพพานเป็นอนัตตา-มหาบุญไทย


พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน เขียนเรื่อง “นิพพานเป็นอนัตตา” ไว้ที่นี่ (http://www.mbu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=384&Itemid=148&limit=1&limitstart=0) มีความยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ [ตอนนี้ลิงก์ตายไปแล้ว]

ผมจะเสนอบทความของพระมหาบุญไทยโดยละเนื้อหาบางตอนไป แต่ไม่ให้เสียเนื้อความ เนื้อหาที่ละไว้จะนำมาเสนอภายหลัง

บทความของพระมหาบุญไทย เรื่อง “นิพพานเป็นอนัตตา” มีดังนี้

นิพพานเป็นหลักคำสอนสูงสุดในพระพุทธศาสนา มักจะมีประเด็นที่มีคนสงสัยมากที่สุดคือนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา

มีผู้มีความเห็นด้วยทั้งสองฝ่าย มิใช่แต่เฉพาะในยุคสมัยนี้เท่านั้น แม้ภายหลังพุทธปรินิพพานไม่นานก็เกิดมีความเห็นของพระเถระสองกลุ่ม

จนเป็นสาเหตุหนึ่งแห่งการเกิดแตกแยกเป็นนิกายมหายานและเถรวาทในเวลาต่อมา

แม้แต่ในประเทศไทยที่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ก็ยังมีบางสำนักพยายามอธิบายนิพพานเป็นอัตตา

นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา

ผู้ที่มีความเห็นว่านิพพานเป็นอัตตานั้น มักจะยกหลักฐานจากมหาปรินิพพานสูตรทีฆนิกายมหาวรรค (๑๐/๙๓/๘๖) มาอ้างว่า

“ดูกรอานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าถึงเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำไว้ในใจ ซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่

สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุก เพราะฉะนั้น พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด

ดูกรอานนท์ อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง  มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็น ที่พึ่งอยู่

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนา  ในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก

อย่างนี้แล อานนท์ ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่

ดูกรอานนท์ ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี โดยที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่ง  อื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุของเราที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาจักปรากฏอยู่ในความเป็นยอดยิ่ง

ส่วนที่มีความเห็นว่านิพพานเป็นอนัตตาก็จะยกข้อความในพระวินัยปิฎก ปริวาร(๘/๘๒๖/๒๒๔)  มาอ้างว่า สังขารทั้งปวงที่ปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  พระนิพพานและบัญญัติ ท่านวินิจฉัยว่า เป็นอนัตตา

และอีกแห่งหนึ่งในอุปปาทสูตร อังคุตตรนิกาย  ติกนิบาต (๒๐/๕๗๖/๒๗๔) ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้น คือความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดาก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง

ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง

ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตามธาตุนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง

ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

คำว่า มีตนเป็นที่พึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา  ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา”  แปลความว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็น

เรื่องนี้ มีประเด็นที่ควรพิจารณาอีกมาก คำว่าตนในที่นี่ท่านอธิบายว่าอย่างไร  ทำไมจึงมีผู้พยายามนำมาอ้าง จนกระทั่งนำไปสู่ความเห็นว่า นิพพานเป็นอัตตา

ส่วนคำว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” ต้องตีความว่า คำว่า “ธรรม”คืออะไร ในอภิธรรม ธรรมสังคณี จูฬันตรทุกะ (๓๔/๗๐๑-๗๐๒/๒๔๗) ได้ให้ความหมายไว้ว่า 

“ธรรมมีปัจจัยเป็นไฉน ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าธรรมมีปัจจัย   ธรรมไม่มีปัจจัย เป็นไฉน อสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่มีปัจจัย

ธรรมเป็นสังขตะ เป็นไฉน ธรรมที่มีปัจจัยเหล่านั้น อันใดเล่า ธรรมเหล่านั้นนั่นแหละชื่อว่า ธรรมเป็นสังขตะ  ธรรมเป็นอสังขตะ นั้น เป็นไฉน ธรรมที่ไม่มีปัจจัยนั้นอันใดเล่า ธรรมนั้นนั่นแหละชื่อว่า ธรรมเป็นอสังขตะ

สรุปว่า “ธรรม” คือ สังขตธรรม สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งคือขันธ์ ๕ กับอสังขตธรรม สิ่งที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งคือนิพพาน  ถ้าหากคำว่า “ธรรม” มีความหมายตามนี้ก็แสดงว่านิพพานก็ต้องเป็นอนัตตาด้วย

นิพพานเป็นคุณชาติที่จะพึงเห็นได้เอง ไม่ขึ้นอยู่กับกาลดังที่ปรากฏในนิพพุตสูตร อังคุตรนิกาย ติกนิบาต (๒๐/๔๙๕/๑๕๓) ว่า

“ดูกรพราหมณ์ ในเมื่อบุคคลนี้เสวยธรรมเป็นที่สิ้นราคะอันไม่มีส่วนเหลือ เสวยธรรมเป็นที่สิ้นโทสะอันไม่มีส่วนเหลือ เสวยธรรมเป็นที่สิ้นโมหะอันไม่มีส่วนเหลือ

นิพพานย่อมเป็นคุณชาติอันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ทรงตรัสประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน

คำสอนเรื่องนิพพานในประไตรปิฎก

นิพพานเป็นธรรมที่ลึกชึ้ง เห็นได้ยาก ดังที่พระพุทธเจ้าเมื่อทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ได้มีพระปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นดังที่ปรากฏในวินัยปิฎก มหาวรรค (๔/๗/๙) อย่างนี้ว่า

ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นคุณอันลึก เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต ไม่หยั่ง ลงสู่ความตรึก ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง

ส่วนหมู่สัตว์นี้เริงรมย์ด้วยอาลัย ยินดีใน อาลัย ชื่นชมในอาลัย ฐานะคือความที่อวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขารเป็นต้นนี้ เป็นสภาพอาศัย  ปัจจัยเกิดขึ้นนี้ อันหมู่สัตว์ผู้เริงรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย ชื่นชมในอาลัยเห็นได้ยาก

แม้ฐานะคือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สิ้น  กำหนัด เป็นที่ดับสนิท หากิเลสเครื่องร้อยรัดมิได้นี้ ก็แสนยากที่จะเห็นได้

ก็ถ้าเราจะพึงแสดง  ธรรม สัตว์เหล่าอื่นก็จะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่า แก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา

บัดนี้ เรายังไม่ควรจะประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้วโดยยาก เพราะธรรมนี้อันสัตว์ผู้อันราคะและโทสะครอบงำแล้วไม่ตรัสรู้ได้ง่าย สัตว์ผู้อันราคะย้อมแล้ว  ถูกกองอวิชชาหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันละเอียดลึกซึ้ง ยากที่จะเห็น ละเอียดยิ่ง อันจะยังสัตว์ให้ถึงธรรมที่ทวนกระแสคือนิพพาน

ภาวะแห่งนิพพานนั้นคือ การรู้แจ้งในขันธ์ห้า หรือรูปนามดังที่ปรากฏในโสขุมมสูตร อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต (๒๑/๑๖/๑๗) ว่า

ภิกษุใดรู้ความที่รูปขันธ์เป็นของละเอียด รู้ความเกิดแห่งเวทนา รู้ความเกิดและความดับแห่งสัญญา รู้จักสังขารโดยความไม่เที่ยง โดยเป็นทุกข์ และโดยความเป็นอนัตตา ภิกษุนั้นแล เป็นผู้เห็นชอบ เป็นผู้สงบ ยินดีในสันติบท ชำนะมารพร้อมทั้งเสนา ย่อมทรงไว้ซึ่งร่างกายมีในที่สุด

ขันธ์ห้าหรือนามรูปเป็นอนัตตามิใช่อัตตา มีพระสูตรที่แสดงเรื่องอัตตาและอนัตตาได้ชัดเจนที่สุดสูตรหนึ่งคืออนัตตลักขณสูตร วินัยปิฎก มหาวรรค (๔/๒๐/๒๐) [ข้อความตรงนี้ มหาบุญไทยยกตัวอย่างอนัตตลักขณสูตร]

ทรรศนะที่บัญญัติว่าอัตตาและโลกเที่ยงนั้น มาจากพรหมชาลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค(๙/๒๗/๑๑) เป็นพวกสัสสตทิฏฐิความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีทิฏฐิว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ
[ข้อความตรงนี้ มหาบุญไทยยกตัวอย่างความเชื่อของพราหมณ์ที่ว่าโลกเที่ยงอัตตาเที่ยง]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า ฐานะเป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิเหล่านี้ อันบุคคลถือไว้อย่างนั้นแล้ว ยึดไว้อย่างนั้นแล้ว ย่อมมีคติอย่างนั้น มีภพเบื้องหน้าอย่างนั้น และตถาคตย่อมรู้เหตุนั้นชัด ทั้งรู้ชัดยิ่งกว่านั้น ทั้งไม่ยึดมั่น ความรู้ชัดนั้นด้วย

เมื่อไม่ยึดมั่นก็ทราบความเกิดขึ้นความดับไป คุณและโทษของเวทนาทั้งหลาย กับอุบายเป็นเครื่องออกไปจากเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง จึงทราบความดับได้เฉพาะตน เพราะไม่ถือมั่น ตถาคตจึงหลุดพ้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีตจะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ที่เป็นเหตุให้กล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ

เมื่อบัญญัติอัตตาแลโลกว่าเที่ยง (นิจจัง) ก็จะนำไปสู่ (สุขัง) และเป็น (อัตตา) กระบวนที่ต่อเนื่องกันนี้ จึงเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีหลักคำสอนที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาดังที่แสดงไว้ในอุปปาทสูตร อังคุตตรนิกาย  ติกนิบาต (๒๐/๕๗๖/๒๗๔) ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”

ขันธ์ห้าเป็นอนัตตา-อนิจจัง-ทุกข์

[ข้อความในส่วนนี้ มหาบุญไทยต้องการเสนอว่า ขันธ์ห้าเป็นอนัตตา-อนิจจัง-ทุกขังไม่เป็นอัตตา ตรงนี้ไม่มีปัญหาข้อโต้แย้งจึงขอละข้อความออกไป]

จากพระสูตรในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรคนี้ เป็นสิ่งที่สืบต่อเนื่องกันว่าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา  เมื่อภาวะที่รู้แจ้งในขันธ์ห้าคือสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้ว ความรู้ในสิ่งที่เป็นอนัตตาก็ย่อมจะเป็นอนัตตาไปด้วย

ถามว่า อะไรที่เป็นอนัตตา มีคำตอบในอนัตตาสูตร (๑๗/๓๘๓/๑๙๙)ว่า  ท่านพระราธะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าอนัตตา  อนัตตา ดังนี้ อะไรหนอเป็นอนัตตา?

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรราธะ รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา ดูกรราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้

การพิจารณานิพพานนั้น มีแสดงไว้ในนิพพานสูตร อังคุตตรนิกาย  ปัญจกนิบาต (๒๒/๓๗๒/๓๙๕) ความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ จักเป็นผู้ประกอบด้วยขันติที่สมควร ข้อนั้นย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้เธอไม่ประกอบด้วยขันติที่สมควรแล้ว จักก้าวลงสู่ความเป็นชอบและความแน่นอนข้อนั้นย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อไม่ก้าวลงสู่ความเป็นชอบและความแน่นอนจักกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรือ อรหัตผลข้อนั้นย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นนิพพานโดยความเป็นสุข จักเป็นผู้ประกอบด้วยขันติที่สมควร ข้อนั้นย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ เธอประกอบด้วยขันติที่สมควรแล้ว จักก้าวลงสู่ความเป็นชอบและความแน่นอน ข้อนั้นย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อก้าวลงสู่ความเป็นชอบและความแน่นอน จักกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรือ อรหัตผล ข้อนั้นย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้

พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตสัญญาไว้ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต  (๒๔/๖๐/๙๙) ว่า

ดูกรอานนท์ ก็อนัตตสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าจักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตาโผฏฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการเหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่า อนัตตสัญญา  

นิพพานอยู่ในกฎไตรลักษณ์

จากหลักฐานในพระไตรปิฎกชี้ให้เห็นว่า นิพพานนั้นเป็นอนัตตา มิใช่อัตตา แต่อย่างไรก็ตามทั้งอัตตาและอนัตตาเป็นสิ่งที่อธิบายได้ยากอย่างยิ่ง ยิ่งเมื่อกาลเวลาผ่านไป ผู้ที่บรรลุนิพพานหรือเป็นพระอรหันต์นั้นมีน้อยลง

จนบางคนถึงกับกล่าวว่าพระนิพพานและพระอรหันต์ในปัจจุบันไม่มีแล้ว  เพราะไม่มีผู้บรรลุ แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันว่านิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตานั้น

โปรดย้อนกลับไปอ่านจากหลักฐานที่นำเสนอมา แล้วจะเข้าใจและมีคำตอบ ทั้งหมดนี้ว่ากันตามคัมภีร์คือพระไตรปิฎก ไม่ได้ยกอรรถกถามาอ้างเลย

หากจะพิจารณาตามอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา คงต้องมีหลายประเด็นที่น่าพิจารณา  แต่นิพพานที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎกยังไม่มีที่ใดเลยที่แสดงว่านิพพานเป็นอัตตา  มีแต่การตีความจากคำว่า จงทำตนเป็นที่พึ่ง ดังที่ปรากฏในทีฆนิกายมหาวรรค แต่คำว่าตนในที่นั่นยังต้องตีความอีก

นิพพานเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนามีคำไวพจน์ (คำที่เรียกแทนกันได้) อีกจำนวนมากเช่น นิโรธะ หมายถึงความดับทุกข์  วิโมกข์  วิมุตติ ความหลุดพ้น  สันติ ความสงบ  ปรมสุข สุขอย่างยิ่ง อภยะ ไม่มีภัย อมตะ ไม่ตาย วิสุทธิ ความบริสุทธิ์  ตัณหักขยะ ความสิ้นตัณหา ปรมสัจจะ สัจจะสูงสุด วิรชะ ไม่มีธุลี อสังขตะ ไม่ถูกปรุงแต่งเป็นต้น

ในการศึกษาตีความครั้งนี้ใช้เพียงคำๆ เดียวคือ “นิพพาน” ไม่ได้ใช้คำอื่น เมื่อสืบค้นแล้วพบว่า เมื่อกล่าวถึงนิพพานจะแสดงไว้ว่าเป็นอนัตตา ประเด็นที่หาคำตอบในครั้งนี้คือนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา

เมื่อสืบค้นแล้วพบว่า

มีแต่ข้อความที่บ่งว่านิพพานเป็นอนัตตา ยังไม่พบที่ใดในพระไตรปิฎกที่บอกว่านิพพานเป็นอัตตาเลย นี่กล่าวเฉพาะ พระไตรปิฏกภาษาบาลี ฉบับสยามรัฐ และพระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง

ส่วนฉบับอื่นๆ คงต้องค้นคว้าในโอกาสต่อไป ในพระไตรปิฎกทั้งสองฉบับไม่มีที่ใดเลยที่บอกว่านิพพานเป็นอัตตา   

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องสรุปตามพระไตรปิฎกว่านิพพานเป็นอนัตตา  จึงได้บทสรุปว่า แท้จริงแล้วในพระไตรปิฎกนิพพานเป็นอนัตตาดังที่ปรากฏในวินัยปิฎก ปริวารว่า “พระนิพพานและบัญญัติ ท่านวินิจฉัยว่า เป็นอนัตตา”

บทความของพระมหาบุญไทย เรื่อง “นิพพานเป็นอนัตตา” จบเพียงนั้น  ก็ขอวิพากษ์วิจารณ์โดยภาพรวมก่อนว่า “พระมหาบุญไทยมั่ว ตัวจริงจริงเสียง” เช่นเดียวกับนักปริยัติท่านอื่นที่เสนอว่า “นิพพานเป็นอนัตตา”  หาความเป็นนักวิชาการไม่ได้

ขอยกตัวอย่างก่อนพอสมควรดังนี้

เมื่อสืบค้นแล้วพบว่า มีแต่ข้อความที่บ่งว่า นิพพานเป็นอนัตตา ยังไม่พบที่ใดในพระไตรปิฎกที่บอกว่านิพพานเป็นอัตตาเลย นี่กล่าวเฉพาะ พระไตรปิฏกภาษาบาลี ฉบับสยามรัฐ และพระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง

ข้อความที่ว่า “ ในพระไตรปิฎกมีข้อความว่า นิพพานเป็นอนัตตา และไม่พบว่านิพพานเป็นอัตตาในพระไตรปิฏก”  ผมอ่านมานาน และสมเพชเวทนาในความมืดบอดด้วยอวิชชาของพวกที่กล่าวอย่างนั้น

อยากจะบอกว่า “เป็นความมืดบอดทางอวิชชาเป็นอย่างยิ่ง” เสียด้วย

ขอฟันธงไว้ก่อนว่า มหาบุญไทยไม่ได้มีความรู้ความคิดเป็นของตัวเอง ไปลอกความคิดของผู้อื่นมา เสียเวลาเรียน เสียเวลาอ่านหนังสือมาทั้งชีวิตไปโดยเปล่าประโยชน์..



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น