บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

นิพพานเป็นอนัตตา-มหาสมจินต์


มหาสมจินต์ได้นำเสนอบทความเรื่อง “นิพพาน : อัตตาหรือ อนัตตา?ไว้ในการเสวนาทางวิชาการ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ณ ห้องประชุม ๗๐๗ อาคารบรมราชกุมารี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากนั้น บทความดังกล่าวก็ได้รับการตีพิมพ์ที่นี่ http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=197&articlegroup_id=59

ในบทความนี้ ผมจะลงเนื้อหาของมหาสมจินต์ให้ครบถ้วนไปก่อนเลย แล้วจะไปวิพากษ์วิจารณ์ในบทความต่อๆ ไป ของบทความชุดนี้

เนื้อหาบทความเรื่อง “นิพพาน : อัตตาหรือ อนัตตา ?” ของมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ มีดังนี้

นิยามความและประเภท

"นิพพาน" ประกอบด้วยศัพท์ นิ(ออกไป, หมดไป, ไม่มี) +วานะ(พัดไป, ร้อยรัด) รวมเข้าด้วยกันแปลว่า ไม่มีการพัดไป ไม่มีสิ่งร้อยร้อย คำว่า "วานะ" เป็นชื่อเรียกกิเลสตัณหา โดยสรุป นิพพานก็คือไม่มีกิเลสตัณหาที่จะร้อยรัดพัดกระพือให้กระวนกระวายใจ

คัมภีร์พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะกล่าวถึงนิพพาน ๒ ประเภท คือ

(๑) สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุยังมีเชื้อเหลือ หรือนิพพานที่ยังเกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์ ในวงการนักธรรม แปลว่า "ดับกิเลสยังมีเบญจขันธ์เหลือ"

(๒) อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุที่ไม่มีเชื้อเหลือ หรือนิพพานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์ ในวงการนักธรรม แปลว่า "ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ"

นิพพานในฐานะต่างๆ

(๑) เป็นการ/เป็นที่/เป็นความดับกิเลส

นิพพานจะบอกว่าเป็นการดับกิเลสก็ได้ ซึ่งบ่งถึงกิริยาอาการ จะบอกว่าเป็นที่ดับกิเลสก็ได้ ซึ่งบ่งถึงจุดหรือตำแหน่งหรือขั้นหนึ่ง หรือจะบอกว่าเป็นความดับกิเลสก็ได้ ซึ่งบ่งถึงภาวะอย่างหนึ่งที่ไม่มีกิเลสเหลืออยู่

กิเลสที่ว่านี้กล่าวโดยสรุปครอบคลุมทั้งหมดก็คือ สังโยชน์ ๑๐ เป็นพระอรหันต์ก็ละสังโยชน์ได้ทั้งหมด เรียกว่าดับกิเลสได้ทั้งหมด

(๒) เป็นบรมสุข

มีพุทธภาษิตบทหนึ่ง ว่า "นิพพานํ ปรมํ สุขํ" แปลว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ซึ่งไม่มีนัยซับซ้อนอะไร เมื่อดับกิเลสตัณหาได้ทุกอย่างแล้วย่อมได้รับสุขอย่างยิ่งอยู่แล้ว

ประเด็นก็คือว่า สุขในนิพพานหรือนิพพานที่ว่าเป็นสุขอย่างยิ่งนั้น หมายถึง สุขที่ไม่แรงกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก สุขที่ไม่ต้องหาอะไรมาเสพเสวย สุขที่ปราศจากอามิสสิ่งของ สุขที่พ้นสภาวะโลกๆ ทั่วไป

กล่าวโดยภาษาของพระพุทธโฆสาจารย์ก็จะบอกว่า "ความสงบเป็นลักษณะของนิพพาน ความไม่เปลี่ยนสภาพเป็นหน้าที่ (กิจ) ของนิพพาน และความไม่มีสัญลักษณ์ (นิมิต) แห่งทุกข์ เป็นภาพของนิพพาน"

(๓) เป็นกิริยาที่หมายถึงการตายของคนที่หมดกิเลส

คนที่เป็นอรหันต์ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือคฤหัสถ์สิ้นชีวิต เราไม่บอกว่า "ตาย (มรณะ)" แต่บอกว่า "นิพพานหรือปรินิพพาน (นิพพานะ, ปรินิพพานะ)"  หมายถึงว่า ตายไปด้วยความเย็นสงบ ไม่มีปัจจัยคือกิเลส เป็นแรงผลักดันหรือฉุดให้ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ที่จะทำให้จิตเศร้าหมองหรือไม่เศร้าหมองอย่างไร

(๔) เป็นธรรมารมณ์

คนที่บำเพ็ญธรรมล้วนแต่หวังนิพพานทั้งนั้น ในระดับต้น ๆ ที่ยังมีกิเลสหนาอยู่ (ปุถุชน) ก็คิดถึงนิพพาน แต่มีลักษณะ "คิดถึงข้างเดียว" เพราะตัวเองไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะไปคิดอย่างนั้น

แต่เมื่อกิเลสเบาบาง ละนิวรณ์ ๕ ได้ สภาวะจิตก้าวข้ามโคตรภู (สะพานเชื่อมระหว่างโลกิยะกับโลกุตตระ) บรรลุถึงขั้น "โสดาบัน" (แปลว่าผู้ถึงกระแส) 

นิพพานจะเป็นอารมณ์ของเขาตลอดเวลา จะบอกว่า นิพพานอยู่ในห้วงความคิดตลอดเวลาก็ได้

นิพพานกับปฏิจจสมุปบาท

ในตอนที่ตรัสรู้ใหม่ ก่อนจะเสด็จจาริกแสดงธรรมโปรดสัตว์ พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทควบคู่ไปกับนิพพาน ตรัสถึงลักษณะธรรมทั้งสองข้อนี้ว่า "ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้"

ถามว่า "นิพพานกับปฏิจจสมุปบาทเกี่ยวข้องกันอย่างไร ?" ความจริง นิพพานกับปฏิจจสมุปบาทเป็นชื่อเรียก "ธรรม" ข้อเดียวกันนั่นเอง ปฏิจจสมุปบาทมี ๒ สาย คือ

(๑) สายอนุโลม หรือสายสมุทัย หมายถึง สายเกิด เช่น เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ทำให้เกิดสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยทำให้เกิดวิญญาณ ... เพราะภพเป็นปัจจัยทำให้เกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยทำให้เกิดชรามรณะ เพราะชรามรณะเป็นปัจจัยทำให้เกิดทุกข์ ... นี่คือสายอนุโลม หรือสมุทัย ซึ่งก็คืออริยสัจข้อ ๒

(๒) สายปฏิโลม หรือสายนิโรธ หมายถึงสายดับ เช่น เพราะอวิชชาดับทำให้สังขารดับ เพราะสังขารดับทำให้วิญญาณดับ ... เพราะภพดับทำให้ชาติดับ เพราะชาติดับทำให้ชรามรณะดับ เพราะชรามรณะดับทำให้ทุกข์เป็นต้นดับ นี่คือสายปฏิโลม หรือสายนิโรธ ซึ่งก็คืออริยสัจ ข้อ ๓ และ "นิโรธ" ก็เป็นคำที่ใช้เรียก "นิพพาน"

"ปฏิจจสมุปบาท" เป็นชื่อเรียกกระบวนเกิด-ดับของโลกและชีวิตทั้งหลาย เป็นชื่อเรียกกระแสของปรากฏการณ์ทั้งระบบ

ถ้าเป็นสายเกิดหรือสายสมุทัย เรียกว่า "สังสารวัฏ" คือการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบสิ้น เรียกในภาษาธรรมเต็ม ๆ ว่า "อนมตัคคสังสาระ" แปลว่า การเวียนว่ายที่หาเบื้องต้นและเบื้องปลายไม่พบ ถ้าเป็นสายดับหรือสายนิโรธ เรียกว่า "นิพพาน"

นิพพานเป็นอนัตตา

คัมภีร์พระพุทธศาสนาโดยเฉพาะของฝ่ายเถรวาท บอกไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า "นิพพานเป็นอนัตตา" เช่น ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก ปริวารบอกว่า "สังขารทั้งปวงอันปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นิพพานและบัญญัติเป็นอนัตตา วินิจฉัยมีดังนี้"

ในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรคบอกว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" และในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตบอกว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา"  ซึ่ง "ธรรม" ในที่นี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายต่อว่า "หมายรวมถึงนิพพานด้วย"

นอกจากนี้ ยังมีข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกอีกหลายแห่งทั้งที่ระบุโดยตรงและโดยอ้อมที่มีนัยบอกว่า "นิพพานเป็นอนัตตา"

คำว่า "อนัตตา" มีความหมายระดับปรมัตถ์ มีนัยที่ต้องไขความต่ออีก โดยเฉพาะในคัมภีร์ชั้นหลังก็จะบอกว่า "ที่ชื่อว่าเป็นอนัตตา เพราะเกิดขึ้นจากองค์ประกอบต่างๆ มาประชุมกัน ไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นเป็นแกนอยู่ ไม่มีตัวตนที่คงที่ ไม่มีผู้สร้าง ไม่มีผู้เสวย ไม่มีอำนาจในตัวเอง บังคับให้เป็นไปในอำนาจไม่ได้ แย้งต่ออัตตา"

นิพพานกับขันธ์ ๕

ถามว่า "นิพพานกับสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาเป็นสิ่ง (อัน/ธรรม) เดียวกันหรือแยกจากกัน ?"

นิพพานเป็นเรื่องของมนุษย์ เป็นสิ่งที่มนุษย์ปรารถนา มนุษย์เมื่อบรรลุถึงก็จะได้รับบรมสุข จึงควรพูดให้ชัดว่า "นิพพานเป็นเรื่องของขันธ์ ๕ อยู่ในขันธ์ ๕ เป็นอันเดียวกันกับขันธ์ ๕"

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรว่า "โดยสรุป อุปาทานขันธ์ ๕ นั่นแหละคือทุกข์"

ทุกข์ก็คือขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ก็คือทุกข์ นิพพานก็คือการดับทุกข์อย่างถาวร ทุกข์ที่ว่านี้ก็คือขันธ์ ๕ นั่นแหละ ในกาลต่อมา นาคารชุนก็กล่าวเหมือนกันว่า "นิพพานคือรูป รูปคือนิพพาน ..."

"นิพพาน" ไม่ได้อยู่แยกจากขันธ์ ๕ สมมติว่าขันธ์ ๕ คือเหรียญ ทุกข์กับนิพพานก็คือด้านทั้ง ๒ ของเหรียญนั้น ทุกข์อาจเป็นด้านหัว (ด้านที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง) นิพพานอาจเป็นด้านก้อย (ด้านที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง) จึงมีคำกล่าวในหลักมหายานดั้งเดิมอยู่เสมอว่า "นิพพานกับสังสารวัฏเป็นอันเดียวกัน"

เพื่อให้ได้คำตอบโดยชัดเจนต่อปัญหาว่า นิพพานเป็นอนัตตาอย่างไร ?

ขันธ์ ๕ ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ แต่แตกต่างกันนิดหนึ่งระหว่างด้านหัว (ด้านที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง) กับด้านก้อย (ด้านที่ไม่ถูกต้องปัจจัยปรุงแต่ง) คือ ด้านหัวตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ทั้งระบบเลย

กล่าวคือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในขณะที่ด้านก้อยตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์เฉพาะข้อสุดท้าย คือ เป็นอนัตตา

เพราะเหตุไร จึงถกเถียงกันว่า “นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา”?

ปัญหาเกี่ยวกับนิพพานที่ว่า "นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา" น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพุทธกาล

ขอให้ดูข้อความในคัมภีร์พระวินัยปิฎก ปริวาร ภาษาบาลีว่า "อนิจฺจา สพฺพสงฺขารา ทุกฺขานตฺตา จ สงฺขตา นิพฺพานญฺเจว ปณฺณตฺติ อนตฺตา อิติ นิจฺฉยา" แปลว่า "สังขารทั้งปวงอันปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นิพพานและบัญญัติเป็นอนัตตา วินิจฉัยมีดังนี้"

ประเด็นที่น่าพิจารณาอยู่ที่คำสุดท้ายของคาถานี้ คือ "อิติ นิจฺฉยา" ซึ่งแปลว่า วินิจฉัยมีดังนี้ ถามว่า "ทำไมต้องมีคำนี้ห้อยท้าย ทำไมไม่กล่าวแล้วจบเลย ?" ปัญหาเกี่ยวกับนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตานี้ เข้าใจว่าสังคมเถียงกันจนเหนื่อยแล้ว พระพุทธศาสนาจึงขอสรุปวินิจฉัยอย่างนี้เถอะว่า "นิพพานเป็นอนัตตา" เถียงไปก็ไม่มีจุดจบ

ถามว่า "ทำไม่จึงเกิดข้อถกเถียงกันในปัจจุบันว่า นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ?" มีสาเหตุมากมายที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันในเรื่องนี้

สาเหตุประการแรกน่าจะเป็นเพราะข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา หรือคัมภีร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคต่อมา ทั้งที่เป็นของเถรวาทและมหายาน

กล่าวเฉพาะในคัมภีร์เถรวาท ข้อความบางตอนก็มีนัยสื่อว่า "นิพพานเป็นอัตตา เป็นสถานที่ เป็นดินแดนบริสุทธิ์" เช่น ข้อความในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ติกนิบาตมีว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา"

กล่าวให้ง่ายขึ้นก็คือว่า "สิ่งที่ไม่เที่ยงย่อมเป็นทุกข์ สิ่งที่เป็นทุกข์ สิ่งทีเป็นทุกข์ย่อมเป็นอนัตตา" นักวิเคราะห์บางคนอาจเห็นว่า ถ้าสมมติว่ามีบางสิ่งที่ "เที่ยงและเป็นสุข" ถามว่า "สิ่งนั้นควรจะเป็นอนัตตาหรืออัตตา ?"

ข้อความในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทานมีว่า "อายตนะมีอยู่ (แต่)ในอายตนะนั้นไม่มีปฐวีธาตุ ... ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกหน้า ไม่มีดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทั้งสองนั้น ... เราไม่เรียกว่า อายตนะนั้นมีการมา มีการไป มีการตั้งอยู่ มีการจุติ มีการอุบัติ ... "

นักวิเคราะห์บางคนอาจเห็นว่า คำว่า "มีอยู่" นั้นอาจมีนัยหมายถึงการมีอยู่ใน ๒ ลักษณะ คือ เป็นสถานที่ มีตำแหน่งและเป็นภาวะหรือเป็นสภาวะเชิงนามธรรม แต่ข้อความในคัมภีร์นี้ไม่ได้บอกเพียงว่า "มีอยู่" แต่ยังบอกรายละเอียดต่อไปอีกมากมาย เพราะฉะนั้น คำว่า "มีอยู่" ในที่นี้ น่าจะมีนัยหมายถึงสถานที่ ตำแหน่ง หรือดินแดน

ข้อความในคัมภีร์พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ กล่าวถึงธาตุและองค์ประกอบของสัตว์ที่เกิดในธาตุ ๔ คือ กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ และอปริยาปันนธาตุ ประเด็น "อปริยาปันนธาตุ" นั้น คงหมายถึง "โลกุตตรธาตุ" ซึ่งก็คือนิพพานธาตุ

คัมภีร์กล่าวถึงองค์ประกอบ ของมนุษย์ในอปริยาปันนธาตุ เช่นบอกว่า "ประกอบด้วยขันธ์ ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ, มีอายตนะ ๒ คือ ใจกับธรรมารมณ์, มีธาตุ ๒ คือ มโนวิญญาณธาตุกับธัมมธาตุ ..."

นักวิเคราะห์บางคนอาจเห็นว่า "นี่แหละคือดินแดนที่คนเป็นอรหันต์ไปเกิดหลังจากตายในชาตินี้ เป็นแดนนิพพาน เป็นแดนอมตะ"

สาเหตุประการที่สอง เป็นเรื่องโลกทัศน์และจริตของแต่ละคน เช่น คนที่ชอบเรื่องที่เป็นรูปธรรม จับต้องสัมผัสได้ มีสัทธาจริต ก็จะบอกว่า "นิพพานเป็นอัตตา" และเชื่อว่านิพพานเป็นอัตตา

ส่วนคนที่ชอบเรื่องที่เป็นนามธรรม วิเคราะห์วิจารณ์ คาดเดา มีพุทธิจริตก็จะบอกว่า "นิพพานเป็นอนัตตา"

นอกจากสาเหตุ ๒ ประการนี้แล้ว ข้อมูลในคัมภีร์ชั้นหลังทั้งของเถรวาทและมหายานก็มีนัยสื่อว่านิพพานเป็นอัตตา ผสมผสานเข้ากับข้อมูลในคัมภีร์ของลัทธิเทวนิยมอื่นๆ ทำให้มีผู้แสดงทรรศนะว่า "นิพพานเป็นอัตตา" แม้ในกลุ่มชาวพุทธเองก็แสดงและเชื่ออย่างนั้น

เนื้อหาบทความเรื่อง “นิพพาน : อัตตาหรือ อนัตตา ?” ของมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ จบเพียงแค่นั้น

ขอวิพากษ์วิจารณ์โดยสรุปภาพรวมก่อนที่จะลงรายละเอียดต่อไปว่า “มหาสมจินต์นี่มั่วสุดๆ” ไม่มีลักษณะในทางวิชาการเลย  เดาอย่างเดียว...



นิพพานเป็นอนัตตา-มหาบุญไทย


พระมหาบุญไทย  ปุญญมโน เขียนเรื่อง “นิพพานเป็นอนัตตา” ไว้ที่นี่ (http://www.mbu.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=384&Itemid=148&limit=1&limitstart=0) มีความยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ [ตอนนี้ลิงก์ตายไปแล้ว]

ผมจะเสนอบทความของพระมหาบุญไทยโดยละเนื้อหาบางตอนไป แต่ไม่ให้เสียเนื้อความ เนื้อหาที่ละไว้จะนำมาเสนอภายหลัง

บทความของพระมหาบุญไทย เรื่อง “นิพพานเป็นอนัตตา” มีดังนี้

นิพพานเป็นหลักคำสอนสูงสุดในพระพุทธศาสนา มักจะมีประเด็นที่มีคนสงสัยมากที่สุดคือนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา

มีผู้มีความเห็นด้วยทั้งสองฝ่าย มิใช่แต่เฉพาะในยุคสมัยนี้เท่านั้น แม้ภายหลังพุทธปรินิพพานไม่นานก็เกิดมีความเห็นของพระเถระสองกลุ่ม

จนเป็นสาเหตุหนึ่งแห่งการเกิดแตกแยกเป็นนิกายมหายานและเถรวาทในเวลาต่อมา

แม้แต่ในประเทศไทยที่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท ก็ยังมีบางสำนักพยายามอธิบายนิพพานเป็นอัตตา

นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา

ผู้ที่มีความเห็นว่านิพพานเป็นอัตตานั้น มักจะยกหลักฐานจากมหาปรินิพพานสูตรทีฆนิกายมหาวรรค (๑๐/๙๓/๘๖) มาอ้างว่า

“ดูกรอานนท์ สมัยใด ตถาคตเข้าถึงเจโตสมาธิ อันไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำไว้ในใจ ซึ่งนิมิตทั้งปวง เพราะดับเวทนาบางเหล่าแล้วอยู่

สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมผาสุก เพราะฉะนั้น พวกเธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด

ดูกรอานนท์ อย่างไรเล่า ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง  มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็น ที่พึ่งอยู่

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ พิจารณาเห็นเวทนา  ในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ เป็นผู้มีเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก

อย่างนี้แล อานนท์ ภิกษุจึงจะชื่อว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่

ดูกรอานนท์ ผู้ใดผู้หนึ่งในบัดนี้ก็ดี โดยที่เราล่วงไปแล้วก็ดี จักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่ง  อื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ภิกษุของเราที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษาจักปรากฏอยู่ในความเป็นยอดยิ่ง

ส่วนที่มีความเห็นว่านิพพานเป็นอนัตตาก็จะยกข้อความในพระวินัยปิฎก ปริวาร(๘/๘๒๖/๒๒๔)  มาอ้างว่า สังขารทั้งปวงที่ปัจจัยปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  พระนิพพานและบัญญัติ ท่านวินิจฉัยว่า เป็นอนัตตา

และอีกแห่งหนึ่งในอุปปาทสูตร อังคุตตรนิกาย  ติกนิบาต (๒๐/๕๗๖/๒๗๔) ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้น คือความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดาก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง

ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยงครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตาม ธาตุนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง

ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะตถาคตอุบัติขึ้นก็ตาม ไม่อุบัติขึ้นก็ตามธาตุนั้น คือ ความตั้งอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปตามธรรมดา ก็คงตั้งอยู่อย่างนั้นเอง

ตถาคตตรัสรู้ บรรลุธาตุนั้นว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่ายว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

คำว่า มีตนเป็นที่พึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า “อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา  ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา”  แปลความว่า มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือจงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง มิใช่มีสิ่งอื่นเป็น

เรื่องนี้ มีประเด็นที่ควรพิจารณาอีกมาก คำว่าตนในที่นี่ท่านอธิบายว่าอย่างไร  ทำไมจึงมีผู้พยายามนำมาอ้าง จนกระทั่งนำไปสู่ความเห็นว่า นิพพานเป็นอัตตา

ส่วนคำว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” ต้องตีความว่า คำว่า “ธรรม”คืออะไร ในอภิธรรม ธรรมสังคณี จูฬันตรทุกะ (๓๔/๗๐๑-๗๐๒/๒๔๗) ได้ให้ความหมายไว้ว่า 

“ธรรมมีปัจจัยเป็นไฉน ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าธรรมมีปัจจัย   ธรรมไม่มีปัจจัย เป็นไฉน อสังขตธาตุ สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมไม่มีปัจจัย

ธรรมเป็นสังขตะ เป็นไฉน ธรรมที่มีปัจจัยเหล่านั้น อันใดเล่า ธรรมเหล่านั้นนั่นแหละชื่อว่า ธรรมเป็นสังขตะ  ธรรมเป็นอสังขตะ นั้น เป็นไฉน ธรรมที่ไม่มีปัจจัยนั้นอันใดเล่า ธรรมนั้นนั่นแหละชื่อว่า ธรรมเป็นอสังขตะ

สรุปว่า “ธรรม” คือ สังขตธรรม สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งคือขันธ์ ๕ กับอสังขตธรรม สิ่งที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งคือนิพพาน  ถ้าหากคำว่า “ธรรม” มีความหมายตามนี้ก็แสดงว่านิพพานก็ต้องเป็นอนัตตาด้วย

นิพพานเป็นคุณชาติที่จะพึงเห็นได้เอง ไม่ขึ้นอยู่กับกาลดังที่ปรากฏในนิพพุตสูตร อังคุตรนิกาย ติกนิบาต (๒๐/๔๙๕/๑๕๓) ว่า

“ดูกรพราหมณ์ ในเมื่อบุคคลนี้เสวยธรรมเป็นที่สิ้นราคะอันไม่มีส่วนเหลือ เสวยธรรมเป็นที่สิ้นโทสะอันไม่มีส่วนเหลือ เสวยธรรมเป็นที่สิ้นโมหะอันไม่มีส่วนเหลือ

นิพพานย่อมเป็นคุณชาติอันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ทรงตรัสประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน

คำสอนเรื่องนิพพานในประไตรปิฎก

นิพพานเป็นธรรมที่ลึกชึ้ง เห็นได้ยาก ดังที่พระพุทธเจ้าเมื่อทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ได้มีพระปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นดังที่ปรากฏในวินัยปิฎก มหาวรรค (๔/๗/๙) อย่างนี้ว่า

ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้ เป็นคุณอันลึก เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต ไม่หยั่ง ลงสู่ความตรึก ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง

ส่วนหมู่สัตว์นี้เริงรมย์ด้วยอาลัย ยินดีใน อาลัย ชื่นชมในอาลัย ฐานะคือความที่อวิชชาเป็นปัจจัยแห่งสังขารเป็นต้นนี้ เป็นสภาพอาศัย  ปัจจัยเกิดขึ้นนี้ อันหมู่สัตว์ผู้เริงรมย์ด้วยอาลัย ยินดีในอาลัย ชื่นชมในอาลัยเห็นได้ยาก

แม้ฐานะคือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สิ้น  กำหนัด เป็นที่ดับสนิท หากิเลสเครื่องร้อยรัดมิได้นี้ ก็แสนยากที่จะเห็นได้

ก็ถ้าเราจะพึงแสดง  ธรรม สัตว์เหล่าอื่นก็จะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยเปล่า แก่เรา จะพึงเป็นความลำบากเปล่าแก่เรา

บัดนี้ เรายังไม่ควรจะประกาศธรรมที่เราได้บรรลุแล้วโดยยาก เพราะธรรมนี้อันสัตว์ผู้อันราคะและโทสะครอบงำแล้วไม่ตรัสรู้ได้ง่าย สัตว์ผู้อันราคะย้อมแล้ว  ถูกกองอวิชชาหุ้มห่อแล้ว จักไม่เห็นธรรมอันละเอียดลึกซึ้ง ยากที่จะเห็น ละเอียดยิ่ง อันจะยังสัตว์ให้ถึงธรรมที่ทวนกระแสคือนิพพาน

ภาวะแห่งนิพพานนั้นคือ การรู้แจ้งในขันธ์ห้า หรือรูปนามดังที่ปรากฏในโสขุมมสูตร อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต (๒๑/๑๖/๑๗) ว่า

ภิกษุใดรู้ความที่รูปขันธ์เป็นของละเอียด รู้ความเกิดแห่งเวทนา รู้ความเกิดและความดับแห่งสัญญา รู้จักสังขารโดยความไม่เที่ยง โดยเป็นทุกข์ และโดยความเป็นอนัตตา ภิกษุนั้นแล เป็นผู้เห็นชอบ เป็นผู้สงบ ยินดีในสันติบท ชำนะมารพร้อมทั้งเสนา ย่อมทรงไว้ซึ่งร่างกายมีในที่สุด

ขันธ์ห้าหรือนามรูปเป็นอนัตตามิใช่อัตตา มีพระสูตรที่แสดงเรื่องอัตตาและอนัตตาได้ชัดเจนที่สุดสูตรหนึ่งคืออนัตตลักขณสูตร วินัยปิฎก มหาวรรค (๔/๒๐/๒๐) [ข้อความตรงนี้ มหาบุญไทยยกตัวอย่างอนัตตลักขณสูตร]

ทรรศนะที่บัญญัติว่าอัตตาและโลกเที่ยงนั้น มาจากพรหมชาลสูตร ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค(๙/๒๗/๑๑) เป็นพวกสัสสตทิฏฐิความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีทิฏฐิว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ ก็สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น อาศัยอะไร ปรารภอะไร จึงมีทิฏฐิว่าเที่ยง บัญญัติอัตตาและโลกว่าเที่ยง ด้วยเหตุ ๔ ประการ
[ข้อความตรงนี้ มหาบุญไทยยกตัวอย่างความเชื่อของพราหมณ์ที่ว่าโลกเที่ยงอัตตาเที่ยง]

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า ฐานะเป็นที่ตั้งแห่งทิฏฐิเหล่านี้ อันบุคคลถือไว้อย่างนั้นแล้ว ยึดไว้อย่างนั้นแล้ว ย่อมมีคติอย่างนั้น มีภพเบื้องหน้าอย่างนั้น และตถาคตย่อมรู้เหตุนั้นชัด ทั้งรู้ชัดยิ่งกว่านั้น ทั้งไม่ยึดมั่น ความรู้ชัดนั้นด้วย

เมื่อไม่ยึดมั่นก็ทราบความเกิดขึ้นความดับไป คุณและโทษของเวทนาทั้งหลาย กับอุบายเป็นเครื่องออกไปจากเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง จึงทราบความดับได้เฉพาะตน เพราะไม่ถือมั่น ตถาคตจึงหลุดพ้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แล ที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีตจะคาดคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ที่เป็นเหตุให้กล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริงโดยชอบ

เมื่อบัญญัติอัตตาแลโลกว่าเที่ยง (นิจจัง) ก็จะนำไปสู่ (สุขัง) และเป็น (อัตตา) กระบวนที่ต่อเนื่องกันนี้ จึงเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งมีหลักคำสอนที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาดังที่แสดงไว้ในอุปปาทสูตร อังคุตตรนิกาย  ติกนิบาต (๒๐/๕๗๖/๒๗๔) ว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา”

ขันธ์ห้าเป็นอนัตตา-อนิจจัง-ทุกข์

[ข้อความในส่วนนี้ มหาบุญไทยต้องการเสนอว่า ขันธ์ห้าเป็นอนัตตา-อนิจจัง-ทุกขังไม่เป็นอัตตา ตรงนี้ไม่มีปัญหาข้อโต้แย้งจึงขอละข้อความออกไป]

จากพระสูตรในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรคนี้ เป็นสิ่งที่สืบต่อเนื่องกันว่าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา  เมื่อภาวะที่รู้แจ้งในขันธ์ห้าคือสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้ว ความรู้ในสิ่งที่เป็นอนัตตาก็ย่อมจะเป็นอนัตตาไปด้วย

ถามว่า อะไรที่เป็นอนัตตา มีคำตอบในอนัตตาสูตร (๑๗/๓๘๓/๑๙๙)ว่า  ท่านพระราธะได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่าอนัตตา  อนัตตา ดังนี้ อะไรหนอเป็นอนัตตา?

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรราธะ รูปเป็นอนัตตา เวทนาเป็นอนัตตา สัญญาเป็นอนัตตา สังขารเป็นอนัตตา วิญญาณเป็นอนัตตา ดูกรราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้

การพิจารณานิพพานนั้น มีแสดงไว้ในนิพพานสูตร อังคุตตรนิกาย  ปัญจกนิบาต (๒๒/๓๗๒/๓๙๕) ความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ จักเป็นผู้ประกอบด้วยขันติที่สมควร ข้อนั้นย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้เธอไม่ประกอบด้วยขันติที่สมควรแล้ว จักก้าวลงสู่ความเป็นชอบและความแน่นอนข้อนั้นย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อไม่ก้าวลงสู่ความเป็นชอบและความแน่นอนจักกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรือ อรหัตผลข้อนั้นย่อมไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นนิพพานโดยความเป็นสุข จักเป็นผู้ประกอบด้วยขันติที่สมควร ข้อนั้นย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ เธอประกอบด้วยขันติที่สมควรแล้ว จักก้าวลงสู่ความเป็นชอบและความแน่นอน ข้อนั้นย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้ เมื่อก้าวลงสู่ความเป็นชอบและความแน่นอน จักกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรือ อรหัตผล ข้อนั้นย่อมเป็นฐานะที่จะมีได้

พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตสัญญาไว้ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต  (๒๔/๖๐/๙๙) ว่า

ดูกรอานนท์ ก็อนัตตสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่าจักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตาโผฏฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการเหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่า อนัตตสัญญา  

นิพพานอยู่ในกฎไตรลักษณ์

จากหลักฐานในพระไตรปิฎกชี้ให้เห็นว่า นิพพานนั้นเป็นอนัตตา มิใช่อัตตา แต่อย่างไรก็ตามทั้งอัตตาและอนัตตาเป็นสิ่งที่อธิบายได้ยากอย่างยิ่ง ยิ่งเมื่อกาลเวลาผ่านไป ผู้ที่บรรลุนิพพานหรือเป็นพระอรหันต์นั้นมีน้อยลง

จนบางคนถึงกับกล่าวว่าพระนิพพานและพระอรหันต์ในปัจจุบันไม่มีแล้ว  เพราะไม่มีผู้บรรลุ แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันว่านิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตานั้น

โปรดย้อนกลับไปอ่านจากหลักฐานที่นำเสนอมา แล้วจะเข้าใจและมีคำตอบ ทั้งหมดนี้ว่ากันตามคัมภีร์คือพระไตรปิฎก ไม่ได้ยกอรรถกถามาอ้างเลย

หากจะพิจารณาตามอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา คงต้องมีหลายประเด็นที่น่าพิจารณา  แต่นิพพานที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎกยังไม่มีที่ใดเลยที่แสดงว่านิพพานเป็นอัตตา  มีแต่การตีความจากคำว่า จงทำตนเป็นที่พึ่ง ดังที่ปรากฏในทีฆนิกายมหาวรรค แต่คำว่าตนในที่นั่นยังต้องตีความอีก

นิพพานเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนามีคำไวพจน์ (คำที่เรียกแทนกันได้) อีกจำนวนมากเช่น นิโรธะ หมายถึงความดับทุกข์  วิโมกข์  วิมุตติ ความหลุดพ้น  สันติ ความสงบ  ปรมสุข สุขอย่างยิ่ง อภยะ ไม่มีภัย อมตะ ไม่ตาย วิสุทธิ ความบริสุทธิ์  ตัณหักขยะ ความสิ้นตัณหา ปรมสัจจะ สัจจะสูงสุด วิรชะ ไม่มีธุลี อสังขตะ ไม่ถูกปรุงแต่งเป็นต้น

ในการศึกษาตีความครั้งนี้ใช้เพียงคำๆ เดียวคือ “นิพพาน” ไม่ได้ใช้คำอื่น เมื่อสืบค้นแล้วพบว่า เมื่อกล่าวถึงนิพพานจะแสดงไว้ว่าเป็นอนัตตา ประเด็นที่หาคำตอบในครั้งนี้คือนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา

เมื่อสืบค้นแล้วพบว่า

มีแต่ข้อความที่บ่งว่านิพพานเป็นอนัตตา ยังไม่พบที่ใดในพระไตรปิฎกที่บอกว่านิพพานเป็นอัตตาเลย นี่กล่าวเฉพาะ พระไตรปิฏกภาษาบาลี ฉบับสยามรัฐ และพระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง

ส่วนฉบับอื่นๆ คงต้องค้นคว้าในโอกาสต่อไป ในพระไตรปิฎกทั้งสองฉบับไม่มีที่ใดเลยที่บอกว่านิพพานเป็นอัตตา   

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องสรุปตามพระไตรปิฎกว่านิพพานเป็นอนัตตา  จึงได้บทสรุปว่า แท้จริงแล้วในพระไตรปิฎกนิพพานเป็นอนัตตาดังที่ปรากฏในวินัยปิฎก ปริวารว่า “พระนิพพานและบัญญัติ ท่านวินิจฉัยว่า เป็นอนัตตา”

บทความของพระมหาบุญไทย เรื่อง “นิพพานเป็นอนัตตา” จบเพียงนั้น  ก็ขอวิพากษ์วิจารณ์โดยภาพรวมก่อนว่า “พระมหาบุญไทยมั่ว ตัวจริงจริงเสียง” เช่นเดียวกับนักปริยัติท่านอื่นที่เสนอว่า “นิพพานเป็นอนัตตา”  หาความเป็นนักวิชาการไม่ได้

ขอยกตัวอย่างก่อนพอสมควรดังนี้

เมื่อสืบค้นแล้วพบว่า มีแต่ข้อความที่บ่งว่า นิพพานเป็นอนัตตา ยังไม่พบที่ใดในพระไตรปิฎกที่บอกว่านิพพานเป็นอัตตาเลย นี่กล่าวเฉพาะ พระไตรปิฏกภาษาบาลี ฉบับสยามรัฐ และพระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับหลวง

ข้อความที่ว่า “ ในพระไตรปิฎกมีข้อความว่า นิพพานเป็นอนัตตา และไม่พบว่านิพพานเป็นอัตตาในพระไตรปิฏก”  ผมอ่านมานาน และสมเพชเวทนาในความมืดบอดด้วยอวิชชาของพวกที่กล่าวอย่างนั้น

อยากจะบอกว่า “เป็นความมืดบอดทางอวิชชาเป็นอย่างยิ่ง” เสียด้วย

ขอฟันธงไว้ก่อนว่า มหาบุญไทยไม่ได้มีความรู้ความคิดเป็นของตัวเอง ไปลอกความคิดของผู้อื่นมา เสียเวลาเรียน เสียเวลาอ่านหนังสือมาทั้งชีวิตไปโดยเปล่าประโยชน์..



นิพพานเป็นอนัตตากับการถกเถียง[02]

ในบทความ “นิพพานเป็นอนัตตากับการถกเถียง[01]” ผมกำลังพูดคุยซักถามอยู่กับคุณพงษ์ ผมได้อธิบายเพิ่มเติมไป ดังนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2554 22:20)

เรียน คุณพงษ์ ขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้

1) การเรียนวิชชาธรรมกายต้องเรียนกับวิทยากร

วิชชาธรรมกายเป็นการปฏิบัติธรรมที่เป็นเนื้อหนังของศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าทรงบรรลุวิชชานี้ จึงสามารถบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้

คุณพงษ์ลองคิดดูซิว่า มีสายปฏิบัติธรรมสายใดเคยอธิบายได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงเอาความรู้มาจากไหนอย่างมากมาย จนสามารถสอนพุทธศาสนิกชนได้ถึง 45 ปี เป็นพระไตรปิฎกภาษาไทยก็ 45 เล่ม

พระองค์ทรงไม่เคยไปสัมมนาเพิ่มเติมที่ไหน  การบรรลุวิชชาสามในวันวิสาขบูขานั้น ทุกคนก็อ่านเข้าใจกัน แต่วิชชาอื่นๆ ซึ่งสามารถนำมาเขียนเป็นพระไตรปิฎกพระองค์ไปค้นคว้ามาจากไหน ตั้งแต่เมื่อไหร่

ทางวิชชาธรรมกายบอกได้ชัดเจนว่า กายธรรมพระอรหัตของพระองค์เป็นผู้บอกความรู้ต่างๆ ให้กับพระองค์  พระองค์จึงไปสอนให้ใครเห็นดวงธรรมได้

คำศัพท์ที่สามารถยืนยันได้ในพระไตรปิฎกก็คือ มีดวงตาเห็นธรรม

คำๆ นี้ พุทธวิชาการไม่รู้เรื่องอะไร ก็ตีความไปมั่ว  แถมท้ายอีกหน่อย  พวกพุทธวิชาการทั้งหลายทั้งปวงนั้น  ตายไปแล้ว แทบไม่ได้ไปสวรรค์กันเลย   ล่วงไปอบายภูมิกันเกือบหมด

ที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้น  ผมต้องการจะบอกว่า  คนที่จะสามารถสอนให้คนเห็น ดวงธรรมได้ ต้องมีบารมีมากพอสมควร  อย่างน้อยๆ ก็ 4 อสงไขย

2) วิทยากรของคุณลุงมีบารมีมากขนาดไหน

ขอเขียนตรงนี้ขอบอกไว้ก่อนเลยว่า ขอให้อ่านอย่างมีวิจารณญาณ ไม่ควรฟันธงว่าจริงหรือไม่จริงไปเลยควรมาพิสูจน์กันก่อน

วิชชาธรรมกายนั้น แค่วิชชา 18 กาย ซึ่งเป็นวิชชาระดับอนุบาลเท่านั้น  คนที่ปฏิบัติได้ ยังสามารถไปพบพระพุทธเจ้าในนิพพานได้  เข้าไปพบหลวงพ่อวัดปากน้ำได้  [เด็กนักเรียนที่ผมสอนอยู่เป็นประจำ ทำได้ทุกคน]

ดังนั้น พวกที่มีวิชชาธรรมกายสูงๆ นั้น จะรู้เลยว่า คนหนึ่งๆ นั้น มีความเป็นมาอย่างไร ก่อนเกิดมาจากไหน มาทำอะไรบนโลกมนุษย์

วิทยากรของคุณลุงนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้มีบารมีธรรมสูงมาก บอกใบ้นิดหนึ่ง ไม่ได้มาจากสวรรค์ รูปพรหม หรืออรูปพรหม แต่มาจากที่สูงกว่านั้น

พวกเขาเหล่านี้ ธาตุธรรมฝ่ายขาวส่งมาเกิดเพื่อสร้างบารมี

ขอแถมหน่อยว่า ไชยบูลย์/ธัมมชโยไม่ใช่มาจากพวกเรา  มารมันส่งมาเกิดเพื่อทำลายวิชชาธรรมกาย

การที่จะเป็นวิทยากรได้นั้น ต้องไปสอบวิชชาการเป็นวิทยากรเสียก่อน  พอสอบเป็นวิทยากรผ่านแล้ว พระพุทธเจ้าจะให้บารมีเพื่อนำไปสอนให้คนเห็นดวงธรรมและกายธรรมได้

ตอนสอบนั้น พระพุทธเจ้าทรงลงมาคุมสอบด้วย  [เราสามารถเห็นได้ด้วยวิชชาธรรมกายของเรา]

คนที่ทำหน้าที่คุมสอบวิทยากรได้ ก็มีคุณลุง และลูกศิษย์ของคุณลุงอีกเพียง 3 คน ผมเป็นหนึ่งในนั้น

3) การมีวิทยากรมีบารมีธรรมสูงๆ จึงสามารถสอนคนให้เห็นดวงธรรมและกายธรรมได้ง่ายมากๆ

4) ผมเองนั้น เด็กตา (ตาพิการ) เด็กหู (หูพิการ) เด็กปัญญา (สมองพิการ) ผมสอนมาแล้วทั้งนั้น เห็นดวงธรรมกายธรรมมาแล้วทั้งนั้น

เด็กที่สอนยากที่สุดคือ เด็กหู (หูพิการ) ต้องให้ล่ามภาษามือช่วยแปล  ล่ามแปลดี เด็กก็ทำได้ดี  วันไหนล่ามคนใหม่มา ทั้งๆ ที่เป็นเด็กกลุ่มเดิม ดันแปลไม่ดี  เด็กก็ทำไม่ได้

5) ผมทำวิจัยเกี่ยวกับวิชชาธรรมกายไว้เป็นจำนวนมาก  เคยไปเผยแพร่ในงานวิจัยระดับชาติก็ทำมาแล้ว

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คุณสามารถมาพิสูจน์ด้วยตัวของคุณเอง ในเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น  พาเพื่อนฝูงญาติพี่น้องมาจับผิดได้เลย

ถ้าจะให้ดีพาเด็กๆ มาด้วย  เพราะเด็กเห็นดวงธรรมและกายธรรมได้ง่ายมาก  พวกผู้ใหญ่ชอบ คิดมาก”  จึงเห็นดวงธรรมได้ช้า

 “ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟ


คุณพงษ์ยังติดใจอะไรบางอย่าง เข้ามาถามอีก ดังนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2554 09:57)

เรียนคุณมนัส

ผมขอเวลาคุณมนัสอีกซักนิดนะครับ  ถ้าตามที่คุณมนัสบอกมาหลังจากตายไปแล้วเรื่องมันจบแบบหักมุมมากเลยนะครับ

หมายถึงว่าเส้นทางไปสุขคติภูมิหรือนิพพานไม่ใช่ง่ายนะครับ กว่าจะเจอวิธีในการปฏิบัติที่ถูกต้อง เราต้องเลือกเอง และยอมรับผลของการเลือกนั้น ถ้าเลือกถูกก็ดีไป แต่คนเรามักจะเกิดความลังเล สงสัยว่าถูกมั้ย ที่เลือกใช่หรือป่าว ทุกสำนักต่างก็บอกว่าของตัวเองจริงมันเลยยากมากที่จะเลือก

ผมไปอ่านคู่มือมรรคผลพิสดาร 1,2 ที่โหลดมาจากเว็บของคุณลุง แต่อ่านไม่รู้เรื่องครับ ยากมาก แล้วถ้าผมฝึกไปเรื่อยๆ แบบเอาจริงเอาจังภายในชาตินี้จะบรรลุมรรคผลทั้งที่เป็นฆราวาสได้หรือป่าวครับ และตอนนี้นอกจากคุณลุงแล้วพอจะมีใครที่เก่งเท่าคุณลุงบ้างครับ


ผมตอบไป ดังนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2554 17:02)

เรียนคุณพงษ์

1) เรื่องตายแล้วเกิด ตายแล้วไปไหน ชีวิตหลังความตายมีหรือไม่ มีเหตุการณ์เบื้องหลังเหตุการณ์ที่ปรากฏในโลกนี้หรือเปล่าฯลฯ ?

เรื่องนี้เป็นปัญหาปรัชญาของโลกมานานแล้ว  [ผมเรียนจบปริญญาเอกก็เรียนและอ่านหนังสือประเภทนี้ มากมายมหาศาล] ไม่ใช่ที่คุณพงษ์คิดเฉพาะในแวดวงศาสนาของเรา

องค์ความรู้ที่ใหญ่และกำหนดทิศทางการดำเนินชีวิตของคนนั้น มี 3 องค์ความรู้คือ ศาสนา ปรัชญา และวิทยาศาสตร์

พวกเชื่อวิทยาศาสตร์ก็จะเชื่อเฉพาะสิ่งที่สามารถสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ หู ตา จมูก ลิ้น และกายเท่านั้น เมื่อวิทยาศาสตร์เก่าแบบนิวตันดังขึ้นมา  องค์ความรู้ของวิทยาศาสตร์เก่าแบบนิวตันนี้ โค่นองค์ความรู้อื่นๆ ลงไปมากมาย

ในแวดวงวิชาการ ลงความเห็นแบบฟันธงเลยว่า "วิทยาศาสตร์เป็นความจริงของจริงที่สุดแล้ว"  ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดนะครับ

เดี๋ยวนักฟิสิกส์รุ่นใหม่ หลังไอน์สไตน์เป็นต้นมา เขาโค่นองค์ความรู้ของวิทยาศาสตร์เก่าแบบนิวตันไปหมดแล้ว  ดังนั้น ในยุคปัจจุบันเราจะพูดว่า "นรกสวรรค์ไม่มีเพราะพิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์" ไม่ได้อีกแล้ว

พวกเชื่อ "ปรัชญา" ซึ่งก็คือ นักปรัชญาเขาก็มีความคิดความเชื่อไปอย่างหนึ่ง พวกเชื่อปรัชญานี้ จะไม่เชื่อว่ามีองค์ความรู้ใดค้นพบความจริงแล้ว  ดังนั้น นักปรัชญาส่วนใหญ่ จึงไม่นับถือศาสนาใดๆ

พวกที่เชื่อศาสนา ก็มีความเชื่อกันไป แต่ศาสนาก็มีหลายศาสนา

โดยสรุป ในทางวิชาการหรือโดยทั่วไป เราก็ต้องเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมเชื่ออะไรไปอย่างหนึ่ง นั่นแหละคุณพงษ์

ถ้าศึกษากันในทางวิชาการจริงๆ ไม่มีใครกล้าฟันธงหรอกว่า ของฉันถูก ของฉันผิด  ไม่ว่าในทางศาสนา หรือปรัชญา หรือวิทยาศาสตร์ เพราะ เรียนกันขึ้นไปจนหมดโลกแล้ว [พวกดอกเตอร์ทั้งหลาย] ก็จะพบว่า ความรู้ทางปรัชญากับวิทยาศาสตร์นั้นยังไม่สิ้นสุด ยังต้องค้นคว้าไปอีก

ในทางศาสนานั้น ทุกศาสดาต่างก็อ้างว่า "คนค้นพบความจริงแท้แล้ว" แต่มีตั้งหลายศาสนา เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนายูดาย หรือศาสนาพุทธถูกที่สุด

ที่ยิ่งแย่ไปกว่านั้นก็คือ ในศาสนาเดียวกัน ยังมีการแบ่งแยกนิกายอีก  แล้วของใครมันถูกต้องจริงๆ กันล่ะ

ขอสรุปอีกทีว่า  มนุษย์เลือกเชื่อสิ่งใดก็ตาม ต่างสุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น แต่มนุษย์ก็ต้องมีศรัทธาและความเชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง

ก็เสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมเอาเองก็แล้วกัน

อย่างไรก็ดี คนในศาสนาพุทธส่วนใหญ่ ก็คิดแบบเข้าข้างตัวเองว่า เราโชคดี แต่ในทำนองเดียวกัน พวกคริสต์-อิสลาม เขาก็สงสารเราน้ำหูน้ำตาไหล เพราะ เขาคิดว่า เราตายแล้วต้องไปนรก (ของเขาแน่ๆ)  ไอ้ทางเราก็สงสารเขาเหมือนกัน เพราะ เราก็คิดว่า เขาต้องตกนรก (ของเราแน่ๆ)

อย่างไรก็ดี  ศาสนาอื่นๆ นั้น เขา "สั่ง", "บังคับ" ให้เชื่ออย่างเดียว  ห้ามพิสูจน์  ห้ามสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น แต่ในทางวิชชาธรรมกาย (เนื้อหนังแท้ของศาสนาพุทธนั้น) เราสามารถพิสูจน์กันได้

ผมเสนอวิธีการพิสูจน์ไว้เลย  คุณพงษ์จะทำตามหรือไม่ก็ตามแต่สมัครใจ ผมขอเล่าเรื่องส่วนตัวประกอบนิดหนึ่ง

ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เรียนต่างจังหวัดตลอดจนจบปริญญาตรี  มาเรียนธรรมศาสตร์ตอนปริญญาโทกับปริญญาเอก  ครั้งหนึ่งมาเยี่ยมเพื่อนในกรุงเทพฯ ก็เพื่อนจากต่างจังหวัดนั่นแหละ มันมาเรียนต่อในกรุงเทพฯ

เพื่อนมันพาเล่น "ผีถ้วยแก้ว"  แก้วมันก็เลื่อนไปอย่างนั้นแหละ แต่ผมก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง  เพราะ เราคนเดียว ไอ้พวกกรุงเทพฯ มันมี 3 คน  มันอาจจะดันถ้วยให้ไปตามตัวหนังสือก็ได้

พอกลับบ้านนอก ผมก็พาเพื่อนที่บ้านเล่น  ผีมันก็พาถ้วยไปได้  ผมก็เลยเชื่อว่า ผีมันมาเข้าถ้วยจริง  แต่ไอ้เพื่อนของผมอีก 3 คน  มันก็ไม่เชื่อมันก็หาว่า ผมดันถ้วย

ผมก็บอกพวกมันว่า "พวกคุณๆ ทั้งหลาย มี 3 คน" ผมจะไปดันอย่างไร  พวกมันก็ยังไม่เชื่อจนกระทั่งบัดนี้

กลับเข้ามาหนทางพิสูจน์ คือ เรื่องการเป็นวิทยากร

วิทยากรของคุณลุงนั้น เมื่อผ่านการสอบไปแล้ว และสอบผ่านแล้ว (มีคนสอบตกเหมือนกัน บางคนสอบสองครั้ง)  สามารถไปสอนคนให้เห็นดวงธรรมและกายธรรมได้เลย ทั้งๆ ที่ตัววิทยากรยังไม่เห็นดวงธรรมและกายธรรม

คือ คุณลุงพัฒนาการสอนไปจนเหมือนกันวิชาทางในทางโลกทั่วๆ ไป คือ ถ้าคุณเรียนจบปริญญาตรีสาขาไหน คุณก็สามารถไปทำงานหาเลี้ยงชีพได้

วิทยากรที่สอบผ่านไปแล้ว  สามารถสอนให้ผู้ปฏิบัติธรรมเห็นดวงเห็นกายธรรมได้ทุกคน

คุณพงษ์ก็สามารถมาพิสูจน์ด้วยตนเองได้  ไม่มีการเรี่ยไรเงิน ไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

หลักสูตรการสอบเป็นวิทยากรนั้น  ขณะนี้ที่อยู่กับผมถือเป็นหลักสูตรมาตรฐาน ก็เพราะ ผมเป็นคนคุมสอบด้วย  เป็นลูกศิษย์คนแรกที่คุณลุงแต่งตั้งให้คุมสอบแทนคุณลุงได้

ผมมีเป็นไฟล์ pdf อยากได้ก็บอกอีเมล์มาเลย  เดี๋ยวส่งให้

โดยสรุปทั้งหมดข้างบน  การเลือกเชื่อศาสนาพุทธในสายวิชชาธรรมกายนั้น มีหนทางพิสูจน์ได้ว่า องค์ความรู้ของศาสนาพุทธเป็นจริงหรือไม่ ประการใด พิสูจน์ได้อย่างเห็นชัดแจ้งเลยทีเดียว

สำหรับคำถามนี้
----------------
ผมไปอ่านคู่มือมรรคผลพิสดาร 1,2 ที่โหลดมาจากเว็บของคุณลุง แต่อ่านไม่รู้เรื่องครับ ยากมาก แล้วถ้าผมฝึกไปเรื่อยๆ แบบเอาจริงเอาจังภายในชาตินี้จะบรรลุมรรคผลทั้งที่เป็นฆราวาสได้หรือป่าวครับ และตอนนี้นอกจากคุณลุงแล้วพอจะมีใครที่เก่งเท่าคุณลุงบ้างครับ
---------------

1) หนังสือมรรคผลพิสดาร 1,2  ถ้าคุณอ่านเข้าใจและทำได้ สามารถบรรลุพระอรหันต์แน่นอน  แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะ การที่คุณจะบรรลุพระอรหันต์ได้นั้น  คุณต้องมีบารมี 30 ทัศครบถ้วน

ผมไม่รู้บารมี 30 ทัศของคุณพงษ์มีเท่าไหร่แล้ว  แต่ฟันธงได้เลย ยังน้อยกว่าผมครับ  เพราะ คุณยังไปหาคุณลุงไม่ได้เลย  แต่ผมไปหาคุณลุงทำงานให้คุณลุงมาก็เกือบ 10 ปีแล้ว

แต่ยืนยันได้ว่า คุณสามารถจะรู้ได้ว่า ตอนนี้คุณมีบารมีเท่าไหร่แล้ว  เพราะ วิชชาธรรมกายตรวจสอบได้เลย

เราทำไม่ได้  วิทยากรคนอื่นก็ทำได้  เราก็ขอร้องให้เขาดูให้ ก็เท่านั้น

2) สำหรับคุณลุงการุณย์ ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน อนาคต ก่อนอดีต ปัจจุบัน อนาคต และหลังอดีต ปัจจุบัน อนาคต ยังไม่มีใครปราบมารได้เท่าที่คุณลุงทำ  เน้นเฉพาะเรื่องการปราบมาร  แต่การปราบมารนั้น  ต้องอาศัยวิชชา 18 กาย และวิชชาอื่นๆ ที่หลวงพ่อวัดปากน้ำไปค้นมาได้

บอกได้อย่างนี้แหละ และอย่าไปคิดว่า ใครจะเก่งกว่าใคร คนโน้นเก่งกว่าคนนี้  มันเป็นทั้งกิเลส ทั้งนิวรณ์

ผมฟันธงไปก่อนเลยว่า คุณพงษ์เป็นพวก "ชอบคิด"  ปฏิบัติธรรมไปแป๊บเดียว จิตก็ไปคิดเรื่องนั้น ก็ไปคิดเรื่องนี้ ตอนที่จิตแว่บออกไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ชอบด้วย

จิตถึงไม่รวมเป็น "เอกัคตารมณ์" เสียที เมื่อจิตยังไม่หยุดนิ่งแน่นอย่างถูกส่วน  คุณพงษ์จึงยังไม่เห็น "ดวงธรรม"


คุณพงษ์เข้ามาถามอีก ดังนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2554 10:14)

เรียนคุณมนัส อีเมล์ผม phong493@gmail.com

ถ้างั้นผมขอหลักสูตรเลยแล้วกันนะครับ เผื่อฝึกไปเองเรื่อยๆ ก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่ว่างไปเรียนกับทีมงานคุณมนัสเลยครับ

ถ้าผมเคลียร์งานแล้วน่าจะว่าง มีนา ไม่ก็เมษาน่ะครับ ผมจะไปลองดูครับ

ผมตอบไป ดังนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2554 19:01)

เรียนคุณพงษ์

ส่งให้แล้ว  มีรูปหลวงพ่อกับรูปคุณลุงด้วย print out ออกมา แล้วไปใส่กรอบบูชาได้เลย รับรองจะมีจักรพรรดิเข้าไปอยู่ แต่กายจะใหญ่หรือเล็กนั้น ไม่แน่ใจ หมายความว่า จะมีบารมีในระดับไหน ยังไม่รู้

คุณเคยอ่านหนังสือของหลวงพ่อแล้ว คงรู้จักเรื่องจักรพรรดิบางแล้ว  เมื่อมาอบรมกับเรา ก็เอาภาพมาด้วย  จะให้วิทยากรตรวจให้ว่า มีจักรพรรดิ หรือไม่อย่างไร

สำหรับหลักสูตรก็ท่องแบบท่องอาขยานเลย  เดี๋ยวก็จะเห็นดวงธรรมขึ้นเอง  เวลาท่องก็ท่องไปด้วย เอาใจนึกไปด้วย  ยังจำไม่ได้ ก็เปิดอ่านเอาเลย  ทำใหม่ๆ ก็เปิดไปด้วยทำไปด้วยก็ได้

ถ้าจะให้ดี  ก่อนนอนทำ 1 ครั้ง  ตื่นนอนมาทำอีก 1 ครั้ง กลางวันถ้ามีเวลาเหลือก็แถมได้ ตามแต่จะขยันหรือไม่ขยัน

วิทยากรก็ต้องทำแบบนี้ทุกคน  สงสัยอะไรก็ถามมาได้อีก

คุณพงษ์เข้ามาครั้งสุดท้าย ดังนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2554 21:10)

ขอบคุณมากครับ เดี๋ยวผมจะลองดูครับ

ผมตอบคุณพงษ์ครั้งสุดท้าย ดังนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2554 23:34)

เรียนคุณพงษ์  ขอแถมอีกนิดหนึ่ง หลวงพ่อวัดปากน้ำเพิ่งสั่งให้พวกเราทำ เมื่อ 2-3 วันมานี้เอง จึงมาแนะนำให้ทำกันเลย

อย่าเพิ่งไปสงสัยว่า เรารับคำสั่งของหลวงพ่อวัดปากน้ำได้อย่างไร  แค่คุณผ่านวิชชา 18 กาย คุณก็ทำได้แล้ว

หลวงพ่อสั่งว่า ในตอนนอนนั้น ให้ท่อง "หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง ใสในใส" โดยให้ใจหยุดนิ่งไว้ที่ฐานที่ 7 เหนือสะดือ 2 นิ้วมือ จนกว่าจะหลับไป

ถ้ารู้สึกตัวตื่นขึ้นมาในช่วงนอน  ก็ให้ทำต่อไปเรื่อยๆ  ทำอย่างนี้ ไม่นานก็เห็นดวงธรรมแน่ๆ